แนวทางปฏิบัติในการพานักเรียนไปนอกสถานศึกษา

 


Infographic: แนวทางปฏิบัติในการพานักเรียนไปนอกสถานศึกษา ของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

หนังสือสั่งการ:  https://www.facebook.com/share/p/ytEmLscrM2ZYt6iu

  1. ในการพานักเรียนไปนอกสถานศึกษา ให้พิจารณาถึงความพร้อมและความสามารถในการดูแลตนเองขั้นพื้นฐานของนักเรียน และพิจารณาเลือกสถานที่ดำเนินกิจกรรม/ ทัศนศึกษา/ แหล่งเรียนรู้ โดยคำนึงถึงระยะเวลาการเดินทาง สาระความรู้และการเรียนรู้ที่จะเกิดแก่นักเรียน ให้เหมาะสมกับช่วงวัยของนักเรียน

    ระดับปฐมวัย
      ต้องให้มีผู้ปกครองอาสาร่วมคณะไปด้วย และห้ามพานักเรียนออกนอกสถานศึกษา คละกับนักเรียนช่วงชั้นอื่น ให้เลือกสถานที่จัดประสบการณ์เรียนรู้ในพื้นที่ใกล้เคียงสถานศึกษา ที่ส่งเสริมพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย

    ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3  ควรให้มีผู้ปกครองอาสาร่วมคณะไปด้วย และให้เลือกสถานที่ดำเนินกิจกรรม/ ทัศนศึกษา /แหล่งเรียนรู้ ในพื้นที่ใกล้เคียงสถานศึกษา

    ระดับประถมศึกษาปีที่ 4-6 และระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ให้เลือกสถานที่ดำเนินกิจกรรม/ ทัศนศึกษา/ แหล่งเรียนรู้ ในพื้นที่ที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นสำคัญ 

  2. ตรวจสอบสภาพรถยนต์โดยสารให้มีความปลอดภัยครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด และให้ผู้ประกอบการตรวจสอบและรับรองความปลอดภัย โดยจะต้องดำเนินการให้มี ดังนี้ 

  • เอกสารใบรับรองการตรวจสอบสภาพรถจากกรมขนส่งทางบก ไม่เกิน 30 วัน 
  • ห้ามใช้รถยนต์ที่ติดตั้งระบบจ่ายพลังงานเชื้อเพลิงด้วยแก๊ส 
  • รถยนต์โดยสารต้องมีอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย เช่น มีเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง ประตูฉุกเฉิน ถังดับเพลิง ค้อนทุบกระจก ครบถ้วน สภาพสมบูรณ์พร้อมใช้งาน


  1. ต้องจัดทำแผนเผชิญเหตุ กรณีมีเหตุฉุกเฉินและจำเป็น และให้ผู้ประกอบการขนส่งรับผิดชอบดำเนินการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุให้แก่นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ก่อนออกเดินทาง
  2. สถานศึกษาต้องจัดทำสัญญาเช่ารถกับผู้ที่ได้รับอนุญาตประกอบการขนส่งจากกรมขนส่งทางบกและใช้รถที่จดทะเบียนเป็นรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งต้องมีการทำประกันภัยตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ แบบสัญญาเช่ารถยนต์ต้องกำหนดเงื่อนไข เกี่ยวกับสภาพรถและพนักงานขับรถ พร้อมระบุความรับผิดเกี่ยวกับความเสียหายที่อาจเกิดให้ชัดเจน 
  3. สถานศึกษาต้องจัดทำประกันอุบัติเหตุในการพานักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษาไปนอกสถานศึกษา เว้นแต่กรมธรรม์ประกันภัยที่สถานศึกษาจัดทำไว้ ได้ให้ความคุ้มครองอุบัติเหตุในการเดินทางอยู่แล้ว 
  4. ตรวจสอบบันทึกการเดินรถ โดยพนักงานขับรถจะต้องมีเวลาพักไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง และรถยนต์โดยสารจะต้องหยุดพักรถไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ก่อนออกเดินทาง พร้อมประวัติพนักงานขับรถ/พนักงานประจำรถ 
  5. การพานักเรียนไปนอกสถานศึกษา โดยใช้รถยนต์ไม่ต่ำกว่า 40 ที่นั่ง จำนวน 3 คันขึ้นไป ต้องจัดให้มีรถนำขบวน โดยมีป้ายข้อความที่ระบุโครงการ กิจกรรม และสถานศึกษาแสดงให้เห็นเด่นชัดติดที่ด้านข้างรถและมีหมายเลขกำกับติดที่ด้านหน้าและด้านหลังรถในตำแหน่งที่ชัดเจน 
  6. ตรวจสอบเส้นทางก่อนการเดินทางโดยให้คำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ 
  7. หากเส้นทางที่ขับไกลเกินกว่า 4 ชั่วโมง ผู้ประกอบการต้องจัดให้มีพนักงานขับรถ จำนวน 2 คน เพื่อสับเปลี่ยนขับ และจัดทำแผนการเดินทางให้มีระยะเวลาหยุดพักไม่น้อยกว่าครึ่งชั่วโมงหลังขับรถติดต่อกันเป็นระยะเวลา 4 ชั่วโมง
  8. กรณีที่เป็นการเดินทางในเส้นทางที่เป็นภูเขาลาดชันและคดเคี้ยว ให้ใช้รถยนต์โดยสารชั้นเดียวในการเดินทาง 
  9. ห้ามนำนักเรียนออกเดินทางในเวลากลางคืน 
  10. ต้องกำหนดให้มีครูที่เป็นผู้ควบคุมอย่างน้อย 2 คนและต้องผลัดกันทำหน้าที่คอยกำกับดูแลพนักงานขับรถไม่ให้ขับโดยใช้ความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือมีพฤติกรรมที่แสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอุบัติเหตุ หากพบเห็นพฤติกรรมดังกล่าวให้สั่งพักรถหรือหยุดการเดินรถทันที 
  11. ผู้ควบคุมต้องกำกับดูแลนักเรียนให้คาดเข็มขัดนิรภัย 
  12. ผู้ควบคุมต้องกำกับดูแล ไม่ให้มีการบรรทุกนักเรียนเกินจำนวนที่นั่งของรถยนต์โดยสาร
  13. ให้ความสำคัญกับการทำสัญญา โดยให้เน้นเรื่องความปลอดภัยกับผู้รับจ้างโดยระบุประเด็นที่เกี่ยวข้องที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดไว้อย่างชัดเจน 
  14. ให้ถือเป็นหน้าที่ของผู้อำนวยการสถานศึกษา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ในการดูแล กำกับติดตาม ตรวจสอบให้เป็นไปตามมาตรการและแนวทางดังกล่าวข้างต้น อย่างละเอียดรอบคอบ